ข่าวจากหลายสำนักคอนเฟิร์มตรงกันในที่สุดว่า Michelin Guide หรือไกด์บุ๊คที่แนะนำร้านอาหารในตำนานจะมาถึงเมืองไทยเสียที หลังจากตลอดช่วงหลายปีมานี้ คนไทยได้ชิมอาหารของเหล่าเชฟซึ่งครอบครองดาวมิชลิน ( Michelin Star) บินมาทำให้กินถึงที่ แถมบางทียังตัดสินใจมาเปิดร้านอาหารแถวนี้กันไม่รู้กี่ร้านต่อกี่ร้านแล้ว
สำหรับคนที่ยังงงว่าเอ๊ะ! ทำไมนี่ดูเป็นเรื่องใหญ่ หรือสงสัยว่าบริษัทยางรถยนต์ที่มีมาสคอตเป็นหุ่นตัวปล้องสีขาวๆ มาเกี่ยวอะไรกับเรื่องอาหาร เราจะขอเล่าให้ฟังก่อน
มิชลินสตาร์คืออะไร
มิชลินสตาร์หรือดาวมิชลินที่ใช้สัญลักษณ์หน้าตาเหมือนดอกไม้มีที่จากการที่เมื่อปี 1900 มิชลิน บริษัทผลิตยางรถยนต์ชื่อดังต้องการกระตุ้นให้คนซื้อรถ เลยจัดทำมิชลิน ไกด์ (Michelin Guide) หนังสือซึ่งแนะนำเรื่องการดูแลรักษายางพร้อมถนนหนทาง ที่ตั้งปั๊มน้ำมัน และโรงแรมในฝรั่งเศสขึ้น ราว 20 ปีต่อมา ไกด์บุ๊คเล่มเดิมก็เพิ่มเติมส่วนแนะนำร้านอาหารเข้าไป ก่อนเริ่มมีการให้ดาวเพื่อบอกคุณภาพของร้านอาหารเมื่อปี 1926 โดยค่อยๆ เพิ่มจาก 1 เป็น 2 ดวง และ 3 ดวงในปัจจุบัน โดยร้านไหนได้สามดวงนั้น คือที่สุดของที่สุดร้านอาหาร
สำหรับร้านที่ร้านที่ได้ดาวมิชลินบรรดานักกินจะรู้ทันทีว่าร้านนั้นเด็ดซึ่งความเด็ดไม่ได้อยู่ที่ตัวอาหารเท่านั้น (เพราะนักกินหลายคนลงความเห็นตรงกันว่าบางร้านก็ไม่เห็นจะอร่อย ‘ขนาดนั้น’ เสียหน่อย) แต่อยู่ที่ความสมบูรณ์แบบของทั้งร้าน บรรยากาศ การบริการ และอื่นๆ อีกมากมาย ว่ากันว่าคนที่ตัดสินใจให้ดาวก็คือเหล่านักชิมตัวจริงที่จะปลอมตัวเข้าไปลองลิ้มอาหารจานเด็ดของแต่ละร้าน จากนั้นจึงมาลงคะแนนกันว่าร้านไหนควรได้กี่ดวง ร้านไหนไม่ควรได้ หรือร้านไหนควรลดหรือเพิ่มจำนวนดาวที่เคยได้รับ
โดยมากร้านอาหารที่ได้ดาวมิชลินส่วนใหญ่จะเป็นรานอาหารสไตล์ไฟน์ไดน์นิ่ง (fine dining) หรือร้านดีๆ ที่ต้องแต่งตัวสวยไปกิน แต่ช่วงหลัง เราก็เริ่มได้เห็นร้านที่หลุดออกจากความเป็นมิชลินมากขึ้น อาทิ Sukiyabashi Jiro ร้านซูชิของเทพเจ้าแห่งซูชิ จิโระ โอโนะ ซึ่งเป็นร้านเล็กๆ ขนาด 8 ที่นั่งแต่รู้กันว่าคุณภาพระดับท็อปในโตเกียว หรือร้าน Liao Fan Hong Kong Soya Sauce Chicken Rice & Noodle ร้านบะหมี่ไก่และข้าวหน้าไก่ราคาถูกแสนถูกในฟู้คคอร์ตบ้านๆที่สิงคโปร์
สำหรับร้านอาหารการได้ดาวมิชลินแทบจะเป็นตัวการันตีได้ถึงจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นเพราะใครๆก็อยากมากินในร้าน ‘ระดับนี้’ กันทั้งนั้น ขนาดที่มีกลุ่มฟู้ดดี้พยายามตามกินและเก็บแต้มของร้านมิชลินทั่วโลกเลยทีเดียว
มิชลิน สตาร์ ฉบับเมืองไทย
เพราะมิชลินไกด์ยังไม่ได้มาทำหนังสือฉบับประเทศไทยเสียทีอย่างนี้จึงพูดไม่ได้เต็มปากว่าเมืองไทยมีร้านที่มีคุณภาพขนาดได้รับการการันตีจากมิชลินฉะนั้นถึงวันนี้วันที่รัฐบาลกระโดดลงมาสนับสนุนเต็มที่โดยมีมติเห็นชอบให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงการ The Michelin Guide Thailand ด้วยเงินงบประมาณ 143.50 ล้านบาท กับการทำงานระหว่างปี 2560-2564 เลยเป็นการการันตีว่าหนังสือปกแดงเล่มนี้มาเมืองไทยแน่ๆ เพียงแต่ช่วงแรกอาจจะเน้นร้านอาหารในกรุงเทพฯ ก่อนที่ย้ายไปยังภูมิภาคอื่น
รัฐบาลเชื่อว่าการมาถึงของดาวมิชลินน่าจะเป็นการดึดดูดนักท่องเที่ยวที่รักการกินมาเมืองไทยพร้อมๆกับเป็นการกระตุ้นให้ร้านอาหารในเมืองไทยหันมาสนใจเรื่องคุณภาพในระดับสากลมากขึ้น
ไม่ชอบ–ไม่เอา–ไม่สน มิชลิน สตาร์
แต่ก็เหมือนกับเรื่องอื่นๆในโลกมีคนชอบก็ต้องมีคนชังเราเลยได้เห็นพลังต่อต้านมิชลินไกด์ผุดขึ้นมามากมายในโลกเช่นนิตยสาร Le Fooding ซึ่งมาจากฝรั่งเศส บ้านเดียวกันกับมิชลิน ที่ยังคงเขียนเหน็บความ ‘หัวสูง’ ของมิชลินอย่างสม่ำเสมอ หลายต่อหลายครั้งที่เชฟชั้นนำระดับโลกออกมาบ่นกันว่าไกด์บุ๊คที่นักกินเชื่อถือกันทั่วโลกนั้นเชื่อถือไม่ได้ เพราะมีมาตรฐานการวัดที่ไม่ได้มาตรฐาน แถมยังไม่อัพเดตอีกต่างหาก แต่ครั้งที่ดูจะโหดร้ายที่สุด ก็คือการที่ผู้คนเชื่อว่าเชฟ Bernard Loisea ซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารในฝรั่งเศสที่ได้ 3 ดาวมิชลิน ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลง โดยเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากความเครียดและกดดันที่ต้องพยายามรักษาดาวทั้ง 3 ดวงไว้ให้ครบ
ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าสุดท้ายจะเป็นอย่างไรแต่ที่รู้แน่ๆก็คือมีคนไทยกลุ่มใหญ่เลยละที่ตั้งตารอที่จะได้กินในร้านอาหารซึ่งการันตีด้วยดาวสัญชาติฝรั่งเศสเล็กๆนี้
0 Comments